ประวัติศาสตร์ ของ สาธารณรัฐฮังการีที่ 1

รัฐบาลกาโรยี (1918-1919)

มิฮาย กาโรยี กล่าวปราศรัยกับมวลชนบริเวณบันไดหน้ารัฐสภาฮังการี ภายหลังการประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918

สาธารณรัฐประชาชนฮังการีก่อตั้งขึ้นภายหลังจากการปฏิวัติเบญจมาศ ที่เกิดขึ้นในกรุงบูดาเปสต์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1918 ในวันนั้น พระเจ้าคาร์ลที่ 4 ทรงแต่งตั้งผู้นำคณะปฏิวัติ มิฮาย กาโรยี เป็นนายกรัฐมนตรีฮังการี การกระทำแรกของเขาคือ การยุติสถานะรัฐร่วมประมุขระหว่างออสเตรียและฮังการีอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พระเจ้าคาร์ลได้ออกแถลงการยุติบทบาททางการเมืองของฮังการี ในเวลาต่อมาไม่กี่วัน รัฐบาลเฉพาะกาลได้ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนฮังการีอย่างเป็นทางการ[2] โดยมีกาโรยีเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีชั่วคราว เหตุการณ์นี้ถือเป็นการสิ้นสุดการปกครอง 400 ปีโดยราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค

กองทัพพิทักษ์ปิตุภูมิฮังการียังมีทหารมากกว่า 1,400,000 นาย[12][13] เมื่อกาโรยีได้เป็นนายกรัฐมนตรีของฮังการี จึงยอมรับข้อเรียกร้องของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา วูดโรว์ วิลสัน โดยสั่งให้กองทัพฮังการีปลดอาวุธเพียงฝ่ายเดียว ภายใต้การกำกับดูแลของ เบลอ ลินแดร์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918[14][15] เนื่องจากการปลดอาวุธอย่างเต็มรูปแบบ ประเทศฮังการีในช่วงเวลานี้จึงมีความเปราะบางเป็นพิเศษ ทำให้การยึดครองฮังการีสำหรับกองทัพแห่งราชอาณาจักรโรมาเนีย กองทัพฝรั่งเศสกับราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย และกองทัพเชโกสโลวาเกียเป็นไปอย่างง่ายดาย

ความล้มเหลวจากมาตรการของรัฐบาลกาโรยีได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้คนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเหล่าไตรภาคีได้เริ่มแบ่งส่วนดินแดนส่วนใหญ่ของราชอาณาจักรฮังการีเดิม ให้กับราชอาณาจักรโรมาเนีย, ราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน, และสาธารณรัฐเชโกสโลวักที่หนึ่ง รัฐบาลใหม่และฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐบาลได้มุ่งความหวังที่จะรักษาบูรณภาพแห่งดินแดนของฮังการีไว้ โดยการละทิ้งบางส่วนของซิสเลอธาเนียและเยอรมนี การรักษาสันติภาพที่แยกขาดจากกัน และการใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของกาโรยีที่มีต่อสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 กาโรยีได้แต่งตั้ง โอซการ์ ยาซิ ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงชนกลุ่มน้อยแห่งชาติฮังการี ยาซิได้เสนอให้การลงประชามติตามระบอบประชาธิปไตยเกี่ยวกับพรมแดนที่มีข้อพิพาทสำหรับชนกลุ่มน้อย อย่างไรก็ตาม ผู้นำทางการเมืองของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ได้ปฏิเสธแนวคิดเรื่องการลงประชามติตามระบอบประชาธิปไตยโดยทันทีในการประชุมสันติภาพปารีส[16] หลังจากฮังการีประกาศปลดอาวุธทั้งหมด ผู้นำทางการเมืองของเชโกสโลวาเกีย, เซอร์เบีย, และโรมาเนียได้เลือกที่จะโจมตีฮังการีแทนการลงประชามติตามระบอบประชาธิปไตยเกี่ยวกับพื้นที่พิพาท[17]

เหตุการณ์ทางการทหารและการเมืองแปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและรุนแรงหลังจากการปลดอาวุธของฮังการี

  • เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 กองทัพเซอร์เบียด้วยความช่วยเหลือจากกองทัพฝรั่งเศสข้ามพรมแดนมาทางทิศใต้
  • เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน กองทัพเชโกสโลวักข้ามพรมแดนมาทางทิศเหนือ
  • เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน กองทัพโรมาเนียข้ามพรมแดนมาทางทิศตะวันออก

ฝ่ายไตรภาคีถือว่าฮังการีเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองแบบควบคู่ (Dual Monarchy) ในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีที่พ่ายแพ้ และความหวังของชาวฮังการีได้ถูกทำลาย เนื่องด้วยมีการมอบบันทึกทางการทูตที่ต่อเนื่องกัน โดยทั้งหมดต่างเรียกร้องการมอบดินแดนเพิ่มให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 1919 เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงบูดาเปสต์ได้มีการมอบบันทึกทางการทูตให้แก่กาโรยี ซึ่งเป็นการระบุถึงพรมแดนครั้งสุดท้ายของฮังการีภายหลังสงคราม ซึ่งไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ของชาวฮังการี[18] กาโรยีและนายกรัฐมนตรี เดแน็ช เบริงคีย์ จึงตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก พวกเขารู้ดีว่าหากยอมรับบันทึกทางการทูตของฝรั่งเศสฉบับนี้ จะเป็นอันตรายต่อบูรณภาพแห่งดินแดนฮังการี แต่พวกเขาก็ไม่สามารถตอบปฏิเสธได้ ในท้ายที่สุดเบริงคีย์จึงประกาศลาออก

กาโรยีชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรีว่า มีเพียงพรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมฮังการีเท่านั้นที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ โดยที่เขาไม่รู้เลยว่า พรรคประชาธิปไตยสังคมนิยมได้มีการร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีแล้ว โดยทางฝ่ายนั้นได้ให้คำมั่นสัญญาว่าโซเวียตรัสเซียจะช่วยเหลือฮังการีในการทวงคืนดินแดนดังเดิมคืน ถึงแม้ว่ากลุ่มประชาธิปไตยสังคมนิยมจะครองคะแนนเสียงข้างมากในพรรคสังคมนิยมฮังการีที่เพิ่งรวมตัวกัน แต่กลุ่มคอมมิวนิสต์นำโดย เบลอ กุน ได้เข้าควบคุมประเทศ และสถาปนาสาธารณรัฐโซเวียตฮังการีขึ้น เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1919

รัฐบาลชั่วคราว (1919-1920)

ธงชาติสาธารณรัฐฮังการีในช่วงของรัฐบาลชั่วคราว ค.ศ. 1919-1920

ภายหลังการล่มสลายของสาธารณรัฐโซเวียต เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 1919 รัฐบาลประชาธิปไตยสังคมนิยมหรือที่เรียกว่า "รัฐบาลสหภาพแรงงาน" ได้เข้ามามีอำนาจ โดยอยู่ภายใต้การนำของ จูลอ ไพเดิล[19] ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ให้คืนรูปแบบการปกครองและชื่อทางการของรัฐกลับเป็น "สาธารณรัฐประชาชน"[5] ในช่วงระยะเวลาอันสั้น รัฐบาลของไพเดิลได้พยายามยกเลิกพระราชกฤษฎีกาที่ผ่านโดยกลุ่มคอมมิวนิสต์[20]

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม อิชต์วาน ฟรีดริช ผู้นำแห่งสันนิบาตพันธมิตรทำเนียบขาวฝ่ายขวา (กลุ่มปรปักษ์ปฏิวัติฝ่ายขวา) ได้ทำการโค่นล้มอำนาจของรัฐบาลไพเดิล[21] และทำการรัฐประหารโดยปราศจากการนองเลือด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพหลวงโรมาเนีย[6] การรัฐประหารครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางภายในฮังการี[22] วันต่อมา อาร์ชดยุกโจเซฟ เอากุสท์ ได้ประกาศตนเองเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งฮังการี (เขาดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่ 23 สิงหาคม เมื่อเขาถูกบีบบังคับให้ลาออกจากตำแหน่ง)[23] และแต่งตั้งฟรีดริชเป็นนายกรัฐมนตรี และสืบทอดตำแหน่งต่อโดย กาโรยี ฮูสซาร์ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีชั่วคราวจนกระทั่งการฟื้นฟูราชาธิปไตยในอีกไม่กี่เดือนต่อมา

พลเรือเอก มิกโลช โฮร์ตี เข้าสู่กรุงบูดาเปสต์ ในฐานะผู้บัญชาการกองทัพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 1919 โดยเขาได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ประจำเมืองด้านหน้า โฮแต็ล แกลเลรท์

รัฐบาลเผด็จการที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งประกอบไปด้วยนายทหารที่เข้าสู่กรุงบูดาเปสต์ในเดือนพฤศจิกายน และได้รับการสนับสนุนจากชาวโรมาเนีย[6] ได้ก่อให้เกิด "ความน่าสะพรึงกลัวขาว" ขึ้น ซึ่งนำไปสู่การถูกจองจำ, การทรมาน, และประหารชีวิตโดยปราศจากการพิจารณาคดีของผู้คนมากมายที่ถูกกว่าหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์, นักสังคมนิยม, ชาวยิว, ปัญญาชนฝ่ายซ้าย, ผู้สนับสนุนระบอบกาโรยีและกุน และคนอื่น ๆ ที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อระบอบการเมืองแบบดั้งเดิมของฮังการี[6] มีการคาดการณ์ว่าจำนวนในการประหารชีวิตอยู่ที่ 5,000 ครั้ง นอกจากนี้ ยังมีผู้ถูกจำคุกประมาณ 75,000 คน[6][21] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อชาวฮังการีฝ่ายขวาและกองทัพโรมาเนียมุ่งหมายกวาดล้างชาวยิว[6] ในท้ายที่สุด ความน่าสะพรึงกลัวขาวนี้ได้บีบให้ประชาชนประมาณ 100,000 คน ต้องออกนอกประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักสังคมนิยม, ปัญญาชน, และชาวยิวชนชั้นกลาง[6]

ในปี 1920 และ 1921 ได้เกิดความโกลาหลภายในประเทศฮังการี[6] ความน่าสะพรึงกลัวขาวยังคงกระทำต่อชาวยิวและฝ่ายซ้ายอย่างต่อเนื่อง การว่างงานและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น และผู้ลี้ภัยชาวฮังการีที่ขาดแคลนเงินจำนวนมากได้หลั่งไหลข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้านและสร้างภาระให้กับเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ซึ่งรัฐบาลให้การช่วยเหลือแก่ประชากรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น[6] ในเดือนมกราคม 1920 ชาวฮังการีทั้งชายและหญิงได้รับสิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ และผู้ที่ได้เสียงข้างมากส่วนใหญ่ในรัฐสภาเป็นฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติ[6] มีสองพรรคการเมืองหลักที่ได้ก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลานี้ ได้แก่ พรรคสหภาพคริสเตียนแห่งชาติและพรรคเกษตรกรรายย่อยและกรรมกรเกษตรกรรมแห่งชาติ ซึ่งสนับสนุนการปฏิรูปที่ดิน[6] เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 1920[24] รัฐสภาได้ฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยฮังการี อันเป็นการสิ้นสุดระบอบสาธารณรัฐ และในเดือนมีนาคม ได้มีการประกาศยกเลิกสัญญาการประนีประนอม ค.ศ. 1867[6] รัฐสภาได้เลื่อนการเลือกตั้งพระมหากษัตริย์ออกไป จนกว่าปัญหาความวุ่นวายในประเทศจะสงบลง จึงทำให้อดีตพลเรือเอกของกองทัพออสเตรีย-ฮังการี มิกโลช โฮร์ตี ได้รับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[6] จนถึงปี 1944

แหล่งที่มา

WikiPedia: สาธารณรัฐฮังการีที่ 1 http://anno.onb.ac.at/cgi-content/anno?apm=0&aid=n... http://www.conflicts.rem33.com/images/Ungarn/modhu... http://epa.oszk.hu/01900/01994/00006/pdf/CARHS_197... http://theorangefiles.hu/the-first-hungarian-repub... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... https://books.google.com/books?id=36WsAgAAQBAJ&pg=... https://books.google.com/books?id=AkppAAAAMAAJ https://books.google.com/books?id=NQodBQAAQBAJ&pg=... https://books.google.com/books?id=OKDRvNHdraoC&pg=... https://books.google.com/books?id=PI9nw2tQu4IC&pg=...